ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

จากใจบรรณาธิการ : โรงเรียนนอกชายคา ครูอาสานอกระบบ
เขียนโดย วราลักษณ์ ไชยทัพ  
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2013 เวลา 06:28 น.

จากใจบรรณาธิการ โรงเรียนนอกชายคา ครูอาสานอกระบบ1

“..อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความคิดคำนึงของพวกเขา อาจมีบางสิ่งที่คอยบ่มเพาะ “ตัวตนที่แตกต่าง” จึงทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก แต่หากพวกเขาไม่เคยทบทวนและถามตัวเองอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็น “ครูอาสาฯ”

หลังจากที่โครงการครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิซิเมนต์ไทย และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2552

คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง จำนวน 181 คนได้สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ซึ่งมีเพียง 20 คน ที่ผ่านการคัดเลือก และเริ่มวาระการปฏิบัติงานในเดือนมิถุนายน 2552 –พฤษภาคม 2553 ในปีที่ 1 และมีครูอาสาจำนวน 10 คนที่ขอต่อวาระการเป็นครูอาสาในปีที่ 2
หากย้อนเวลากลับไปในวันแรกของการสมัครเข้าร่วมโครงการ หลายคนต่างสารภาพว่าแท้จริงแล้วหาได้เข้าใจคำว่า“ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก” อย่างแจ่มชัดไม่ ในใจของพวกเขาเหล่านั้นคิดเห็นเพียงภาพของ “ครู” ที่ต้องออกไปสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชนบทที่ห่างไกล

อย่างไรก็ดี สิ่งนี้เองก็นับเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า คนหนุ่มสาวที่เดินเข้ามาในโครงการนี้ต่าง “มีจิตอาสา” เป็นพื้นฐานในจิตใจ ครูอาสาในความหมายของพวกเขาในวันนั้นก็คือ “การอาสามาเป็นครู” นั่นเอง และได้เป็นประตูสำคัญในการเปิดเข้ามาสู่ “การศึกษาทางเลือก” ในก้าวต่อๆ ไป ของพวกเขา

ครูอาสาฯ 10 คนสุดท้ายของรุ่นแรก ได้ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ในเรื่องการศึกษาทางเลือก ซึ่งแตกต่างจากการเป็นครูในระบบการศึกษาทั่วไปที่ครูมีภารกิจสำคัญในการสอนนักเรียนในชั้นเรียน แต่ภารกิจของครูอาสาแตกต่างกันไป ตามแต่ละองค์กรที่รับครูอาสาไปทำงานร่วมกัน ซึ่งในปีที่ 2 ของโครงการ มีองค์กรที่รับครูอาสาต่อเนื่อง ดังนี้

•    สถาบันชุมชนชาวนา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
•    อาศรมพลังงาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
•    โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำพอง-ป่าสัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย
•    กลุ่มรักษ์เขาชะเมา อ.แกลง จ.ระยอง
•    ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล
•    กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
•    โรงเรียนวัดท่าสะท้อน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

และมีครูอาสาที่กลับบ้านเกิดของตน 3 คน

หากจะกล่าวว่า “คนหนุ่มสาวเป็นวัยแห่งการแสวงหา” ก็ไม่ผิดนักสำหรับครูอาสาทั้ง 10 คนนี้ พวกเขายอมละทิ้งสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอันเป็นวิถีที่คนส่วนใหญ่เลือกดำรงอยู่

“มนุษย์เงินเดือนในเมืองใหญ่” กับรายได้ที่เพียงพอให้ได้ใช้จ่ายและสะสม พวกเขากลับดำรงอยู่อย่างอึดอัดสับสน และมีคำถามเวียนวนให้ครุ่นคิดว่า “นี่หรือคือคำตอบของชีวิต?”

อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความคิดคำนึงของพวกเขา อาจมีบางสิ่งที่คอยบ่มเพาะ “ตัวตนที่แตกต่าง” จึงทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก แต่หากพวกเขาไม่เคยทบทวนและถามตัวเองอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็น “ครูอาสาฯ”

สิ่งที่สะท้อนในงานเขียนของครูอาสาฯหลังจบวาระ 2 ปี ได้ทำให้เห็นว่ายังมีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับชีวิต ชีวิตที่ต้องทำงานเพียงเพื่อแลกกับรายได้หรือการมีฐานะทางเศรษฐกิจและต้องเผชิญกับแรงคาดหวังอย่างหนักจากครอบครัว สังคม คนรอบข้าง เมื่อตัดสินใจละทิ้ง “ความมั่นคงในการงาน” มาหา “ความเป็นอาสาสมัคร”

หนังสือเล่มนี้ได้ถอดเรื่องราวของคนหนุ่มสาว 10 คนในบทบาทของครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือกตลอดช่วงวาระ 2 ปีที่ผ่านมา กฤษณา พาลีรักษ์ ผู้เขียนได้ดึงส่วนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของทั้ง 10 คนออกมาสะท้อนให้เห็นคุณค่าของความกล้าหาญที่จะเลือกเส้นทางเดินของชีวิตที่แตกต่าง และผลของการไขว่คว้าหาโอกาสในการเดินทางไปสู่เส้นทางของความเป็น “อาสาสมัครเพื่อสังคม” คือการเติบโตที่เกิดจากการบ่มเพาะหล่อหลอมผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกกันว่า “การศึกษาทางเลือก”

“โรงเรียนนอกชายคา การศึกษานอกระบบ” ที่ท่านถืออยู่เล่มนี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากงานเขียนสรุปรายงาน 2 ปีของครูอาสาฯ ประกอบกับการติดตามลงไปสัมภาษณ์พูดคุยส่วนตัว แล้วนำมาประกอบเรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายและสั้นกระชับมากขึ้น

หากคุณยังเชื่อว่าคนหนุ่มสาวคือพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หนังสือเล่มนี้ก็นับว่าเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อและศรัทธาดังกล่าว และที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้ที่มีพลังอันเป็นประสบการณ์จริงที่พวกเขาได้สัมผัสในห้วงเวลา 2 ปียังสามารถตอบคำถามว่าด้วย “ระบบการศึกษาของสังคมไทย”ที่เป็นทางเลือกใหม่ภายใต้แนวคิด “การศึกษาทางเลือก” อีกด้วย

วราลักษณ์ ไชยทัพ
มีนาคม 2556

กองบรรณาธิการจะทยอยนำแต่ละเรื่องราวของครูอาสา ๑๐ คนในเล่ม “โรงเรียนนอกชายคา ครูอาสานอกระบบ” มาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ผู้อ่านโปรดติดตาม
หรือหากท่านใดต้องการเป็นเจ้าของหนังสือที่สะท้อนบทเรียนดีๆ ของครูอาสาทั้ง 10 คน เล่มนี้.. แจ้งความจำนงเข้ามาที่มอส. โทร 02-691-0437-9

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai