ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

วัชรพล นาคเกษม /เขียน

คงไม่ผิดแปลกนักถ้าในสังคมทุกวันนี้ ความคาดหวังของสังคมมีต่อ “คนรุ่นใหม่” จะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ และถูกพูดถึงให้เป็นประเด็นกันอยู่บ่อยๆ อาจเพราะความมืดบอดจนดูไร้หนทางของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของกลุ่มคนไม่กี่คนในอดีต ที่ถูกหมักหมมบ่มเพาะมายาวนานจนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของสังคมที่ยากจะแก้ไข การปล้นชิงสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ที่มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ภาพฝันของสังคมที่ดูเหมือนจะอยู่ในวังวนที่เวียนว่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่เป็นผลผลิตทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหล่าคนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลเติบโตและกำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างท้าทาย ในวันที่หลายคนตั้งคำถามมากมายต่อทุกสรรพสิ่งและฝันถึงอุดมคติที่แสนหวานที่พร้อมจะลงมือเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่ในความมุ่งหวังที่อยากให้คนรุ่นใหม่ได้เดินออกมาเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม หากมีการหนุนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นดั่งคลื่นทะเลที่พร้อมจะซัดพาตัวเองขึ้นฝั่งอย่างท้าทายคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย และแน่นอนว่าย่อมดีกว่าปล่อยให้พวกเขาเผชิญโลกกว้างกันเพียงลำพัง โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จึงเป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะการเติบโตของเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ยังคงมีหวังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและเป็นพื้นที่รวมพลคนรุ่นใหม่ที่ทำงานทางสังคมจากหลากหลายประเด็น ทั้งการศึกษา เยาวชน ความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชน ทรัพยากร ชาติพันธุ์ และอีกหลากหลายประเด็น ตัวกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมโครงการเติบโตไปพร้อมๆ กัน ทั้งความคิด จิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองและสังคม เสริมความรู้สู่การลงมือทำ สร้างความเข้าใจ คิด ออกแบบ และฝึกฝนตลอดระยะเวลาปีครึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านมาแล้ว 2 รุ่น  ปัจจุบันกำลังก่อกำเนิดคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กว่า 40 ชีวิต ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในรุ่นที่ 3 การเดินทางของพวกเขาจากวันแรกที่ก้าวเท้าเข้าร่วมโครงการจนถึงวันนี้ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาตนเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เปิดใจ

”ไม่ได้คิดอะไรเป็นพิเศษกับการมาเข้าร่วมโครงการนี้ เพียงแต่อยากมาแลกเปลี่ยนมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิด และอยากที่จะเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการคนรุ่นใหม่เป็นประเด็นหลักๆ อีกเรื่องที่ตั้งใจมาเลย ด้วยความที่ว่ามีเพื่อนที่มาจากหลายพื้นที่และทุกคนก็ค่อนข้างที่จะหลากหลาย แตกต่าง ต่างที่ต่างภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่เราไม่เคยเห็น ผมเลยคิดว่าต้องได้เห็นในโครงการนี้แน่ๆ ผมเลยต้องมา” “สุริยา ปรีชานนท์” หรือ “กฤต” หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 3 อธิบายไว้ทันทีที่ได้รู้จักกับโครงการ จากคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนในจังหวัดชุมพร กฤตตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อพบเจอกับพื้นที่ความหลากหลายของผู้เข้าร่วมที่มาจากทั่วทั้งประเทศ จากหลากหลายประเด็นการทำงาน ทุกคนพาตัวเองมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และการได้เจอกันโดยที่ทุกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปิดใจเรียนรู้อย่างพวกเขา “เรียนรู้เรื่องของการเปิดใจ การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ผมไม่คิดว่าแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ของวันแรกเราจะสามารถทำให้พวกเราทุกคนเข้ากันได้ แต่ด้วยหลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่บอกเราว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน การเปิดใจเข้าหากัน เป็นสิ่งที่ผมประทับใจ เพราะเมื่อเราเปิดใจเข้าหากันแล้ว มันจะทำให้เราเข้าหากันได้มากขึ้น” เป็นความรู้สึกของกฤตที่ฝากเอาไว้ในตอนท้าย

ตัวของตัวเอง

“แรงบันดาลใจของผมคือ ผมอยากสร้างตัวของตัวเอง ผมพาตัวเองไปในทุกที่ที่มีการพัฒนาตัวเอง และที่นี่ คือมันหลากหลายมาก และก็แตกต่าง ไม่คิดว่าจะเจอกับความแตกต่างขนาดนี้ ผมชอบพาตัวเองไปในที่ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง เพื่อเรียนรู้และศึกษาว่ามนุษย์ทำไมเขาทำในสิ่งนั้นๆ เลยเลือกมาที่นี่ และพบว่ามันมีแต่ความหลากหลาย ผมไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ทุกคนเข้ามา ทุกคนหลากหลาย และทุกคนมหัศจรรย์มาก” “ประยุทธ ขันเงิน” หรือ “บอย”  หรือในกลุ่มคนที่ติดตามศิลปินหลากหลายค่ายอยู่แล้วน่าจะรู้จักเขาในชื่อ  “BOY KOON” ศิลปินนักร้องหนุ่มจากจังหวัดมหาสารคามที่เป็นทั้งศิลปินและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ พูดถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองที่อยากพาตัวเองไปในทุกที่ที่จะทำให้ตัวเองเกิดการพัฒนา และพบกับความหลากหลาย เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง อาจเพราะความธรรมดาสามัญของผู้คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง บอยมักพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เขาอยากที่จะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง เพื่อที่จะใช้ความสำเร็จและชื่อเสียงที่เหล่านั้นต่อยอดให้เสียงของเขาดังขึ้นไปอีก และทุกคนจะได้ยินมัน   “ตอนนี้ผมเป็นคนธรรมดา พูดอะไรคนไม่เข้าใจและไม่รับฟังในสายตาเขา ผมอยากประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง เพื่อพูดเพียงไม่กี่คำ และทุกคนได้ยินเสียงของผม” ก่อนที่จะเข้ามาในโครงการฯ บอยต้องฝ่าฟัดกับนานาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ต้องดิ้นรนและทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าใกล้จุดของคำว่าประสบความสำเร็จ จนเขาสามารถเป็นศิลปินนักร้องในสังกัดค่ายเพลงแห่งหนึ่งในภาคอีสานได้ เป็นอีกหนึ่งก้าวที่เขาข้ามผ่านมันไปได้และยังคงท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเพื่อเข้าใกล้กับความสำเร็จ บอยเล่าให้ฟังตอนท้ายว่า “ผมพยายามทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จให้ได้เร็วที่สุด ตอนนี้เป็นศิลปินเป็นนักร้อง แต่ก่อนมาจุดนี้มันไม่ใช่ใครก็ได้ มันได้มาไม่ง่าย มันต้องเผชิญและฝ่าฟันมา และสิ่งที่ผมเผชิญผ่านมาในวันที่ผมประสบความสำเร็จ ผู้คนรู้จักผมเยอะ ผมสามารถที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับเยาวชน ที่เขาเป็นเหมือนกันกับเราในตอนที่เราเป็นในตอนนั้น และพยายามช่วยทุกคนให้ได้”

ลูกแก้วหลากสี

ความกังวลของ “ฮันนี่” หรือ “อาอีเสาะ ตีมุง” จากกลุ่มดอกไม้ยิ้ม จังหวัดยะลา คงหนีไม่พ้นเรื่องของวัยที่โตที่สุดในกลุ่มเพื่อนที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน เธอกังวลเรื่องของการวางตัวเมื่อมาอยู่ในโครงการที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 20 ต้นๆ ซึ่งทำให้เธอต้องวางตัวให้เหมาะสมกับความเป็นพี่ “เรากังวลใจ เราแก่สุด ทุกคนจะเรียกเราพี่แน่ๆ  ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับความเป็นพี่ เรียบร้อยๆ แต่กลับกัน ไม่มีใครเรียกเราพี่เลยสักคน เราเหมือนพวกเดียวกัน เป็นเหมือนลูกแก้วหลากสีที่มาชนกันดัง ปิ๊งปั๊ง ปั๊งปิ๊ง มาอยู่จุดนี้เหมือนเป็นพวกเดียวกัน โดยไม่ต้องถามว่ามาจากไหน เป็นอะไร ถามแค่ชื่อ ฮันนี่เหรอ เป็นไงมึง ก็ดีว่าเราไม่ต้องทำตัวเป็นทางการแบบที่คิดไว้ขนาดนั้น” แต่ทุกอย่างผิดคาด ฮันนี่ไม่ต้องวางตัวว่าตัวเองจะต้องเป็นพี่ใหญ่ของรุ่น ทุกคนปฏิบัติต่อกันเหมือนเพื่อนที่ไม่มีช่องว่างของลำดับอาวุโส ข้อกังวลต่างๆ จึงไม่เกิดผลใดๆ ให้คิดต่อ ทุกคนมาจากความต่างและพร้อมเติบโตไปด้วยกัน จริงๆแล้วฮันนี่เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีตัวฮันนี่เองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาเข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่ แต่เพราะการที่ไม่อยากพลาดโอกาสครั้งสำคัญครั้งนี้ เธอเลยตัดสินใจพาตัวเองเข้าร่วมโครงการ “เราก็อายุ 28 แล้ว เลยอยากให้น้องๆ ในกลุ่มสมัคร แต่ในช่วงนั้นน้องไปคุยกับที่ฝึกงานแล้วเขายื่นเงื่อนไขว่าให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง น้องๆ เลยอยากเคลียร์ทีละเรื่องเพราะว่าน้องๆ เรียนใกล้จะจบกันแล้ว เลยไม่มีน้องในกลุ่มมาได้สักคน เราเลยไม่อยากให้เสียโอกาส เลยพาตัวเองมาเข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จนได้มาอยู่ที่นี่ตรงนี้ และด้วยความแตกต่างทางศาสนาก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เธออยากจะพาตัวเองมาในพื้นที่ที่เรียกกันว่า พื้นที่คนรุ่นใหม่ พื้นที่เสรีภาพ “เหมือนเรามองว่า ณ จุดนี้ ต้องมีคนที่มาจากหลายพื้นที่ อะไรที่มันต่างกันแล้วมาอยู่ร่วมกันก็ไม่ง่าย และตรงนี้เองก็น่าสนใจมากเลย คือเราสอนน้องในกลุ่มและเด็กในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะว่าเด็กมุสลิมมีปัญหาเรื่องการเข้าหาคนอื่นมาก เราจะรู้สึกว่าเราจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยความที่เราเป็นมุสลิม ถ้ามีโอกาสเราเองก็จะออกมาอยู่กับคนอื่นที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยกัน อยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะมองเรายังไง ถ้าเรามาอยู่ด้วยกันแล้วเรากินหมูไม่ได้ โดนหมาก็ไม่ได้เขาจะรู้สึกโอเคไหม เราอยากจะรู้จุดนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะเนื้อหาของโครงการที่เคารพถึงความหลากหลาย เห็นคุณค่า เข้าใจและเคารพผู้อื่นเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดี ทั้งการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น การเคารพความเชื่อและวิธีคิดที่แตกต่าง นำพาให้ทุกคนมาอยู่รวมกันและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นี่คือ “ลูกแก้วหลากสี” ที่ฮันนี่พูดถึง มันคือลูกแล้วที่มันมาชนกันจนเกิดเสียงที่ดังขึ้นเป็นระยะๆ และโลดแล่นอยู่ด้วยกันอย่างสง่างาม   พลังของการเปลี่ยนแปลงที่ชื่อว่า “คนรุ่นใหม่” “ในความคิดของผม คนรุ่นใหม่คือคนที่มีความกล้าคิดกล้าจะเดินออกจากกรอบที่วางไว้ กรอบที่เราสร้างขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องเอามาใช้ตลอด คนรุ่นใหม่ต้องพัฒนาตัวเอง ก้าวข้ามกรอบที่เราเคยผ่านมา” นี่คือความเห็นของกฤตต่อคำนิยามที่ว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะสามารถสร้างสรรค์สังคมหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้ยังไง กรอบที่ถูกวางไว้ให้เราต้องกำหนดการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด เราต้องกล้าที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอดทั้งวิธีคิด ความเชื่อชีวิตและจิตใจ พร้อมกับหลุดออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ฮันนี่ได้พูดถึงพลังความสามารถอันล้นเหลือของคนรุ่นใหม่ ที่มีส่วนช่วยให้การทำกิจกรรมทางสังคมอยู่ในหลายๆ ประเด็นทั่วประเทศ “มองว่าตอนนี้มันก็มีคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปอยู่ในทุกๆ องค์กรแล้วนะ เมื่อก่อนเรามองว่าวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่คงทำได้อย่างมากแค่ในวงจรการศึกษา แต่ว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ไปไกลกว่านั้น บางคนทำงานอาสาตั้งแต่ยังเด็ก หรือรับผิดชอบงานที่หนักมาก เช่น ดูแลชุมชน ช่วยเหลือเด็กในชุมชนที่มีปัญหา คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ทุกซอกซอยของปัญหาในสังคม และมีพลังมีความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ต้องรับแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ด้วยในหลายๆ ครั้ง คือเราทำของเราเองได้เลย” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ทุกคนที่มาจากความหลากหลาย หลากหลายทั้งประเด็นการทำงาน จากหลายภูมิภาคทั่วประเทศ แต่ทุกคนเป็นคนรุ่นใหม่ และเชื่อมั่นในพลังของการเปลี่ยนแปลงสังคม กับการเข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 3 กับอีกกว่า 40 ชีวิตที่พร้อมจะเผชิญกับการเติบโตในสังคมที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง

คนรุ่นใหม่ล้วนมีแสงสว่างในตัวเอง

“เราเชื่อในศักยภาพและพลังของคนรุ่นใหม่ สำหรับเราทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง แล้วเป็นช่วงที่เขาต้องการค้นหาตัวเองให้มากขึ้น ลงลึกขึ้น การที่เราทำสิ่งนี้เพราะว่า เราอยากเสริมเครื่องมือและสิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าสำคัญและช่วยให้เขาเติบโตได้แข็งแรงขึ้น อย่างสิ่งที่เราทำก็เช่น ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักเพื่อน ให้เขารู้จักการทำงานที่อยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เขามีสายตาที่เฉียบคมขึ้น มีหัวใจที่เข้าใจสังคมหรือคนที่เขาจะไปทำงาน เพราะเราเชื่อในศักยภาพและพลังของคนรุ่นใหม่ซึ่งจะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเส้นทางนี้เขาต้องการคนระหว่างทางที่เข้ามา อย่างน้อยให้เขาได้หยิบจับว่าเขาต้องการอะไร เพื่อเสริมเขา” “ต่าย  ภนิธา โตปฐมวงศ์” หนึ่งในพี่เลี้ยงโครงการฯ ยังคงเชื่อมั่นกับพลังในการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ก่อนหน้านี้ต่ายเคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 1 และเติบโตจนกลายมาเป็นหนึ่งในพี่เลี้ยงโครงการ เพื่อหนุนการส่องสว่างในตัวเองของน้องๆ คนรุ่นใหม่ เพื่อส่งต่อเหล่าคนรุ่นใหม่ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ โดยในบทบาทของพี่เลี้ยงคือการเพิ่มเครื่องมือและเสริมสร้างการเติบโตของน้องๆ และเติบโตไปพร้อมๆ กัน “เพราะคนรุ่นใหม่คือความหวังของสังคมที่เขาสามารถไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ในถิ่นที่อยู่ของเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนของประเทศ แต่เราเชื่อว่าถ้าคนตัวเล็กตัวน้อยหลายๆ คน คนรุ่นใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะเติบโตไปเป็นพลังของประเทศ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงของที่ๆ ตัวเองอยู่ได้ มันจะผลักดันทั้งประเทศไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น” ต่ายเล่าทิ้งท้ายถึงความหวังของคนรุ่นใหม่ที่จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกหย่อมหญ้าของประเทศ ก่อนที่จะเติบโตและกลายเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม “ความคาดหวังของสังคมมีต่อคนรุ่นใหม่ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นความหวังใหม่ที่รอการส่องสว่าง  และการสร้างพื้นที่ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีความแตกต่างและพร้อมเดินลุยบนถนนของความเปลี่ยนแปลงได้มาพัฒนาตนและบ่มเพาะความคิดไปพร้อมๆ กัน ดังลูกแก้วหลากสีที่กลิ้งมาบรรจบพบเจอปะทะเสียงสนั่นจนหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียว และท้าทายด้วยการดีดตัวเองเข้าไปอย่างสุดแรง ”

พื้นที่คนรุ่นใหม่   พื้นที่เสรีภาพ  คนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai