ประกาศ

เปิดรับอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 18 (วันนี้ - 29 ก.พ. 67)

ลงชื่อเข้าร่วมในแถลงการณ์จากกลุ่มภาคีนิติธรรมพลเมือง "สารถึงคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ และคำเรียกร้องต่อศาลเพื่อทรงสถิตยุติธรรม"

กลุ่ม @BeachForLifeTH เเละขบวนประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

#ดงมะไฟ ไม่ใช่เหมืองธรรมดา แต่เป็นเหมืองที่ยึดคืนจากรัฐและนายทุน❗️การต่อสู้ของเครือข่ายชาวบ้านกินเวลานานกว่า 27 ปี

สื่อ The Reporters รายงานมีผู้ลี้ภัยจีนถูกจับหน้าสถานทูตจีน ระหว่างชูป้ายประท้วงประธานาธิบดีจีน ระหว่างประชุมเอเปค ฐานเข้ามาในไทย

ด่วน 10.06 น. ✍️ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย, แม็ก สินบุรี และมิกกี้บัง สามสมาชิก #ทะลุฟ้า โดยให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท

สมบัติ ทองย้อย ? ถูกคุมขังย่างเข้า 200 วัน หรือนานกว่าครึ่งปีแล้ว! ในคดี ม.112 กรณีโพสต์ #เก่งมากกล้ามากขอบใจ และอีก 2 ข้อความ

มอส. หน่อใหม่ของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
เขียนโดย สว.เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์  
วันพุธที่ 13 มีนาคม 2013

มอส. หน่อใหม่ของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน1

“ขอชื่นชม มอส. และคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นหน่อใหม่ที่มีความเป็นผู้ “ให้” และรู้จักสร้างสุขภาวะที่ดีให้ตนเองและสังคม ให้ทุกพื้นที่มีรอยยิ้มและความรักที่อบอุ่นให้กันตลอดไปค่ะ”

บทความโดย สว.เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์ ตีพิมพ์แล้วในนิตยสารสยามรัฐรายสัปดาห์

ดิฉันชอบใจผลงานวิจัยห้าวิธี เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งรวบรวมจากทั่วโลก เพื่อการเพิ่มพูนต้นทุนทางสมองและการมีสุขภาวะทางสมองที่ดีตลอดชีวิต ได้แก่

1.การสานสัมพันธ์ (Connect) กับผู้คนรอบตัว ในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในชุมชน

2. มีความกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น (Be active) โดยการเดิน วิ่ง เล่นเกมส์ นอกบ้าน ทำสวน เต้นรำ การออกกำลังกาย ทำให้มีความรู้สึกดีและทำให้ร่างกายแข็งแรง ฟิต

3. รู้จักสังเกต (Take notice) ติดตามความรู้สึกของตนเอง เห็นความเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เห็นสิ่งที่ผิดปกติ เห็นความรู้สึกของตนขณะคุยกับเพื่อน ขณะเดิน ขณะกิน

4. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำงานที่ท้าทาย เพื่อทำให้มั่นใจในตนเองมากขึ้นและรู้สึกสนุกสนาน (keep learning) และ

5. เป็นผู้ให้ (Give) ให้สิ่งที่ดีแก่ผู้อื่น ทำงานอาสาสมัคร ช่วยงานชุมชน สร้างเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น

การสร้างคนรุ่นใหม่สู่ความเป็นผู้ “ให้” เป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของสังคม ซึ่งคุณแมว จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง และคุณกฤษดา ชีช่วง มีเรื่องเล่าจากอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ดังนี้ค่ะ

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีลักษณะเฉพาะคือเป็นโรงเรียนฝึกฝนคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยแสวงหาให้เข้าใจตนเอง เข้าใจชุมชน และเข้าใจสังคม ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2523 โดยเริ่มต้นจากอาสาสมัครที่ฝึกงานในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และผลิต มอส.นักพัฒนามาแล้ว 28 รุ่น จนกระทั่ง 7 ปีที่แล้ว มอส.มีการปรับเปลี่ยนงานอาสาสมัครมาเป็น อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รับเฉพาะนิติศาสตร์บัณฑิตที่มีความประสงค์จะทำงานเป็นนักกฎหมายเพื่อสังคมและส่งไปประจำตามองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่มีการทำงานเกี่ยวกับกฎหมายในประเด็นต่างๆที่เป็นปัญหาของสังคม เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ สถานะและสิทธิของบุคคล เป็นต้น โดยมีวาระการทำงาน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ดำเนินการมาจนถึงรุ่นที่ 7 แล้ว

คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ โรงพยาบาลอุ้มผาง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับอาสาสมัครนักกฎหมายรุ่นที่ 7 ของ มอส. คือคุณกฤษดา ชีช่วง ในฐานะนักกฎหมายคนแรกของคลินิกฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 โดยภาระหน้าที่หลักของนักกฎหมาย คือ รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้ความเห็นทางกฎหมายและแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของประชาชนในพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

กระบวนการอย่างหนึ่งในโครงการอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของ มอส. คือการให้อาสาสมัครได้มีการทบทวนตนเองเกี่ยวกับการทำงาน ชีวิต ความคิด และจิตใจอยู่เสมอ ดังนั้นภายหลังจากการที่อาสาสมัครได้ทำงานไปแล้วครบ 4 เดือน, 8 เดือน และ 1 ปี มอส.ก็จะจัดให้อาสาสมัครทุกคนได้เลือกพื้นที่ตามประเด็นปัญหาที่ตนสนใจ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆที่แต่ละคนได้พบเจอมา

ซึ่งในวาระครบ 8 เดือนของ มอส. ครั้งนี้ บรรดาอาสาสมัครนักกฎหมายได้ลงพื้นที่อำเภออุ้มผางเพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล ระหว่างวันที่ 1- 4 มีนาคม 2556 คณะอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 7 มอส. โดยการนำของคุณวัฒนา นาคประดิษฐ์ (พี่อ้วน) และคุณสลักจิต แก้วคำ (แลนด์) เดินทางมาถึงอำเภออุ้มผางวันที่ 1 มีนาคม 2556 ได้เข้าพบปลัดอำเภอ(นายอุดร ผโรประการณ์) ปฏิบัติหน้าที่แทนนายอำเภออุ้มผาง เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นการทำงานของคลินิกฯร่วมกับสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง ซึ่งปลัดอำเภอได้นำเสนอว่าอุ้มผางเป็นพื้นที่ชายแดนเป็นการทำงานแบบ “ตั้งรับ” เสียส่วนใหญ่ เพราะมีความอ่อนไหวในเรื่องความมั่นคงเป็นอย่างมาก หากจะทำงานในเชิงรุกจะต้องมีนโยบายจากส่วนกลางกำหนดลงมาก่อน นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็มีความกังวลในเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการลงรายการในทะเบียนราษฎรเช่น การสวมสิทธิแทนบุคคลที่ไม่มีการแจ้งเกิด แจ้งตาย เป็นต้น ทำให้การทำงานด้านนี้ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบเพราะหากมีความผิดพลาดขึ้นอาจมีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา

มอส. หน่อใหม่ของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน2

วันที่ 2 มีนาคม 2555 กิจกรรมช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) จากนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและการทำงานตลอดระยะเวลา 22 ปี ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และเต็มไปด้วยข้อจำกัดอย่างเต็มกำลังและเป็นการทำงานด้วยความสุขที่รู้ว่าตนเองสามารถเป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยมิได้มีเชื้อชาติหรือสัญชาติเป็นข้อกำหนด

ช่วงบ่าย รุ่นพี่อดีตอาสาสมัครนักกฎหมายของ มอส. ที่ปัจจุบันทำงานเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ในองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ นำทีมโดยคุณอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ (มิว) และ คุณยูโสบ แอหลัง(โสบ) ในกิจกรรม “งาน ความคิด ชีวิต จิตใจ” แบ่งปันประสบการณ์ ปัญหา และข้อคิดในการทำงานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัย เป็นต้น ซึ่งรุ่นพี่รุ่นน้องเห็นตรงกันว่ากฎหมายในภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติยังมีความแตกต่างกัน ยังมีชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาสาสมัครรุ่นปัจจุบันเสนอว่าว่าตนเองต้องฝึกฝนทักษะการใช้และการตีความกฎหมายในเรื่องที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความแม่นยำและเชี่ยวชาญมากกว่าเดิม
ภาคเย็น น้อง ๆ มอส.มีโอกาสพักผ่อนอิริยาบถด้วยการปีนป่ายขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดินบนดอยหัวหมด ด้วยการนำของคุณสรรเพชร จินดาทองและคุณราเชนทร์ พันเปรม

เช้าวันที่ 3 มีนาคม 2556 ดิฉัน (จันทราภา) และคุณกฤษดา ชีช่วง ได้นำเสนอประวัติการทำงานคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลอุ้มผาง แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยมีกัลยามิตรที่เป็นแนวร่วมสำคัญ คือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์วิจารณ์ พานิช และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ โดยเฉพาะบุคลากรจากสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) คือ อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และคุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ที่หนุนเสริมให้การดำเนินงานคลินิกก้าวย่างมาจนถึงปัจจุบัน
จากนั้น คุณกฤษดา ชีช่วง ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่ ซึ่งมีคนอีกไม่น้อยยังอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ รอการเยียวยาให้มีสถานะบุคคลถูกต้องตามข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล

มื้อกลางวันของวันที่ 3 มีนาคม 2556 คณะ มอส.ได้ร่วมสร้างกุศลด้วยการเดินทางไปเลี้ยงอาหารกลางวันและไอติมโบราณแก่เด็ก ๆ ที่ H2O (Help to Orphans Foundation) หรือชื่อไทย “มูลนิธิดรุณอุปถัมภ์” ซึ่งเป็นองค์การเล็ก ๆ ที่รับเงินบริจาคจากผู้สูงอายุในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เพื่อดูแลเด็กกำพร้าหรือเด็กที่พ่อแม่ยากไร้จนไม่สามารถดูแลเด็กเองได้ จำนวน 40 คน”

ขอชื่นชม มอส. และคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นหน่อใหม่ที่มีความเป็นผู้ “ให้” และรู้จักสร้างสุขภาวะที่ดีให้ตนเองและสังคม ให้ทุกพื้นที่มีรอยยิ้มและความรักที่อบอุ่นให้กันตลอดไปค่ะ

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์
Krudaeng2013@Gmail.com

เรื่องโดย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเครือข่ายฯ

ค้นหาโครงการที่เหมาะกับฉัน
thThai